" เฮียนฮู้ตั๋วเก่าเล่าประวัติศาสตร์เวียงโฮงจ้าง "
โรงช้างถิ่นเวียงเก่า เรื่องเล่าม่อนสามขา
พระพุทธศาสนารุ่งเรือง ลือเลื่องเกษตรกรรม
งามล้ำอ่างห้วยแดด แวดล้อมป่าสมุนไพร
ตำบลโรงช้างตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่งดงาม ประกอบด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ป่าเขาลำเนาไพรต้นน้ำลำธารสายเล็กๆ หลายสิบสาย ภูเขาลูกเล็กๆ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ม่อน” มีจำนวนหลายลูกที่เป็นแหล่งรวมสมุนไพรอันทรงคุณค่า ซึ่งพวกเราเรียกว่า “ม่อนยา” จากการสำรวจครั้งล่าสุด มีสมุนไพรอยู่ในพื้นที่กว่าหนึ่งพันหกร้อยชนิด ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้ภูมิปัญญาด้านการแพทย์พื้นบ้านหรือที่ชาวบ้านเรียก “หมอเมือง” ได้นำเอาสมุนไพรในป่าม่อนยา มาผลิตเป็นตำรับยารักษาโรคให้ผู้คนในตำบลโรงช้างอย่างมากมาย ทำให้พวกเราชาวตำบลโรงช้างรู้จักการพึ่งตนเองด้านการดูแลสุขภาพและรักษาโรค ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ได้เป็นแหล่งอาหารที่ครบถ้วนหลากหลายชนิด ที่ทุกคนเป็นหุ้นส่วนสามารถเข้าไปเลือกสรรเลือกเก็บได้ตามต้องการ เปรียบเสมือนเซเว่นประจำตำบลก็มิปาน อีกทั้งสิ่งแวดล้อมที่ทรงคุณค่าที่มนุษย์สร้างขึ้น แฝงด้วยศรัทธาความเชื่อ สื่อถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย ผ่านการเล่าขานสืบต่อกันมาด้วยกุศโลบายอับแยบยลของบรรพบุรุษ ได้ฟังและคิดวิเคราะห์แล้วให้รู้สึกทึ่งและประทับใจมาก เช่น การวางผังเมืองบริเวณวัดเวียงซึ่งเป็นพื้นที่ราบ บริเวณโดยรอบมีการขุดคูน้ำหรือคูเมืองล้อมรอบไว้ชั้นที่หนึ่ง ห่างออกไปประมาณห้าร้อยถึงแปดร้อยเมตรมีการก่อสร้างพระธาตุไว้บนยอดเขาหรือม่อนทั้งสี่ทิศเพื่อใช้สังเกตการณ์ข้าศึกและปลูกสมุนไพร ทิศเหนือสร้างเป็นพระธาตุประจำธาตุน้ำเรียกชื่อ ธาตุน้ำดอกบัวทองสิบสองราศี มีสมุนไพรประจำธาตุน้ำขึ้นอยู่เชื่อว่าเกิดจากการนำมาปลูกของบรรพบุรุษ นอกจากการนำเอาสมุนไพรไปรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับธาตุน้ำแล้ว ยังมีความเชื่อศรัทธาว่าหากปีใดฝนแล้ง ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านจะพากันไปสักการะขอฝนที่พระธาตุน้ำ ก็จะบันดาลให้เกิดฝน ด้านทิศตะวันออกมีการก่อสร้างพระธาตุประจำธาตุลมเรียกชื่อว่าธาตุม่อนปูคำ มีสมุนไพรประจำธาตุลมขึ้นอยู่มากมาย ปัจจุบันเป็นที่ตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบลโรงช้างและศาลเจ้าพ่อปูคำ ทางด้านทิศใต้เป็นสถานที่ก่อสร้างพระธาตุศรีดอนแก้วหรือม่อนดอนแก้วเป็นภูเขาที่มีเนินเขาเชื่อมกันสามด้าน เป็นตำนานเล่าขานเรื่องม่อนสามขา ผาสามเส้า ควายเฒ่านอนหนอง ที่ชาวบ้านเชื่อว่าบริเวณม่อนสามขาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มีสมบัติอันล้ำค่าอยู่บริเวณนี้และมีภูตผี รุกขเทวดาคอยปกปักรักษามิให้ผู้ใดรุกล้ำทำลาย ตัดไม้ทำลายป่า แต่เมื่อวิเคราะห์แล้วเห็นว่าน่าจะเป็นสมุนไพรที่ทรงคุณค่ามหาศาลนั่นเอง เป็นพระธาตุประจำธาตุดิน สภาพดินอุดมสมบูรณ์มาก สมุนไพรที่ม่อนแห่งนี้มีกว่าหกร้อยชนิด จากการสำรวจของ มูลนิธิ นพ.ธารา อ่อนชมจันทร์ ส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรประจำธาตุดิน ด้านหลังของม่อนสามขา มีผาสามเส้า (หินสามก้อนตั้งเป็นลักษณะก้อนเส้า) ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าเป็นสถานที่ ที่พระสุธนแอบเอาเครื่องแต่งกายของนางมโนราห์มาซ่อนไว้ ชาวบ้านบางคนที่มีความโลภคิดว่าเป็นที่ซ่อนทรัพย์สมบัติ พากันมาลักลอบขุดหาสมบัติจนทำให้ก้อนหินทั้งสามก้อนล้มทับกันดังเห็นภาพในปัจจุบันและยังรอวันบูรณปฏิสังขรณ์อยู่ ถัดจากผาสามเส้าแต่เดิมมีหนองน้ำที่ชาวบ้านเรียกว่า ”ควายเฒ่านอนหนอง” (หนองน้ำที่มีหินผาลักษณะคล้ายหลังควายนอนอยู่ในหนองน้ำ) เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ชาวบ้านเคารพนับถือ สมัยก่อนเมื่อใกล้ถึงวันพระชาวบ้านจะมาหาปลาบริเวณหนองน้ำแห่งนี้เพื่อนำไปปรุงอาหารประเภทห่อหมกปลาถวายพระสงฆ์ ชาวบ้านบางคนเรียกว่า “หนองห่อนึ่ง”ปัจจุบัน พื้นที่หนองน้ำตื้นเขิน ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินได้จับจองเป็นที่ทำนา ไม่เหลือร่องรอยของหนองน้ำให้เห็น ในขณะนี้องค์การบริหารส่วนตำบลโรงช้างและพ่อแม่พี่น้องชาวตำบลโรงช้างได้ร่วมกันจัดหาทุนเพื่อมาจัดซื้อที่ดินผืนดังกล่าวคืนมาเพื่อดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ให้กลับคืนสภาพดังเดิมและพัฒนาให้เป็นสถานที่ปลูกขยายพันธุ์สมุนไพรที่หายากต่อไป ส่วนด้านทิศตะวันตกเป็นสถานที่ก่อสร้างพระธาตุม่อนแก้ว พระธาตุประจำธาตุไฟ มีสมุนไพรประจำธาตุไฟมากมายอยู่เช่นกัน กลุ่มหมอเมืองโรงช้าง ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายรักษ์ม่อนยาป่าแดด เพื่อร่วมกันสร้างจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ เป็นของหน้าหมู่(ส่วนรวม) ช่วยกันปกปักรักษาม่อนยาให้มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยอาศัยความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา ความศรัทธาในดินแดนศักดิ์สิทธิ์แทนการบังคับด้วยกฎหมาย ร่วมกันเก็บสมุนไพรมาใช้อย่างระมัดระวังและช่วยกันสืบทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาด้านหมอเมือง หรือการแพทย์พื้นบ้านให้คงอยู่สืบไป นอกจากโบราณสถานที่ดังได้กล่าวมาแล้ว ในตำบลโรงช้างยังมีวัดเก่าแก่ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันอีกวัดหนึ่ง อยู่เยื้องไปทางทิศใต้ของวัดศรีดอนแก้วมีทางลูกรังสายเก่าแก่เชื่อมไปถึงเรียกว่า “วัดป่าโป่งเหิ่ม” มีร่องรอยการสร้างวัด สร้างพระธาตุในบริเวณดังกล่าว หากดูจากก้อนอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างจะมีลักษณะเหมือนกับก้อนอิฐที่ก่อสร้างบริเวณวัดประจำธาตุทั้งสี่ เชื่อว่าน่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันแต่อาจจะเป็นชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งที่แยกตัวมาตั้งรกรากอยู่บริเวณป่าโป่งเหิ่มซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ราบเรียบมีความอุดมสมบูรณ์และมี่ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันนี้ได้มีพระประจักษ์ วิจักขณโสภีพี่น้องชาวบ้านหมู่สี่ และชาวตำบลโรงช้างร่วมกันบูรณะก่อสร้างพระธาตุเพื่อจัดเป็นสถานปฏิบัติธรรม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มีผีสางเทวดาคอยปกปักรักษาอีกสถานที่หนึ่ง
จากร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของชาวโรงช้าง เป็นเมืองพุทธ เมืองเกษตรกรรม แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต การรู้จักการวางผังเมือง การวางแผนป้องกันภัยจากศัตรูผู้รุกราน การรู้จักพึ่งตนเองด้านการแพทย์และสาธารณสุข และการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับป่าทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีความสุข ถึงแม้นว่าปัจจุบันนี้ความเจริญและการพัฒนาตามยุคโลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย มีการตัดถนน สร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างบ้านเรือนเพิ่มขึ้น และจำนวนผู้คนที่เพิ่มจำนวนขึ้นทำให้เกิดการบุกรุกป่าไม้ ใช้เป็นที่ทำกิน ปลูกสร้างบ้านเรือน ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมถูกทำลายไปบ้าง แต่สำหรับชาวโรงช้างแล้ว ยังคงมีความรักและหวงแหนธรรมชาติ มีความเชื่อ ความศรัทธาในโบราณสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ บางแห่งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ปรับปรุงให้ดีขึ้น บางแห่งยังอนุรักษ์ไว้เป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ ผ่านองค์กรภาคีเครือข่ายความร่วมมือที่หลากหลาย อาทิเช่น เครือข่ายรักษ์ม่อนยา กลุ่มคนฮักบ้านเกิด ชมรมหมอเมืองโรงช้าง สภาวัฒนธรรมตำบลโรงช้าง สภาเด็กและเยาวชนตำบลโรงช้าง กลุ่มจิตอาสาพัฒนาชุมชน ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลโรงช้าง กลุ่มพัฒนาสตรี ชมรมผู้สูงอายุ องค์กรพระสงฆ์ องค์การบริหารส่วนตำบลโรงช้างและส่วนราชการทุกส่วนในพื้นที่ ต่างมีแนวความคิด มีใจตรงกันในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้สมุนไพร แหล่งน้ำลำธาร แหล่งโบราณสถานที่ ที่สำคัญเชิงประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้คงอยู่รวมถึงการธำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตของคนเมืองล้านนาชาวเวียงโรงช้าง ที่ต่างน้อมนำเอาพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างเหมาะสม รู้จักการพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือเจือจุนซึ่งกันและกันอย่างยั่งยืน
ชาวโรงช้างรู้สึกภาคภูมิใจและคิดว่าช่างโชคดีอะไรเช่นนี้ที่เกิดมาเป็นลูกหลานชาวโรงช้าง ได้เติบโตเจริญวัย ได้เรียนรู้และพัฒนาการขึ้นมาท่ามกลางความรักความเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อยู่ท่ามกลางธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมและความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา ชาวโรงช้างรู้จักพึ่งพาตนเอง รู้จักการใช้เหตุผล รู้จักการสร้างภูมิคุ้มกันตนเองและครอบครัว ศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เชื่อว่า ตราบใดที่พี่น้องลูกหลานชาวโรงช้างยังคงรัก หวงแหน ร่วมปกปักรักษาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ รู้จักใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติอย่างเหมาะสม รักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น รู้จักศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตนเอง หรือที่เรียกว่า “เฮียนฮู้ตั๋วเก่า เล่าความหลัง ฟังประวัติศาสตร์” ชาวโรงช้างจะพบกับความสุขความเจริญ ความสงบร่มเย็นอย่างยั่งยืนสมดั่งคำว่า “ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี สร้างคุณค่าชีวิต นำพาความสุขอย่างยั่งยืน”สำรวจม่อนสามขา