การจัดขยะมูลฝอยชุมชนควรพิจารณาดำเนินการตามลำดับขั้นของการจัดการขยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยลำดับแรกเริ่มจากการหาทางลดปริมาณขยะและการใช้ซ้ำเพื่อไม่ให้เกิดขยะ จากนั้นพิจารณานำวัสดุในขยะที่ทิ้งจากชุมชนมารีไซเคิล หรือหมักทำปุ๋ย ในส่วนของขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลควรนำไปเข้ากระบวนการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน ขยะที่ไม่สามารถบำบัดด้วยวิธีการดังกล่าวได้และขยะที่เหลือจากกระบวนการต่างๆนำไปฝังกลบ กระบวนการเหล่านี้นอกจากจะเป็นวิธีการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แล้วยังช่วยลดการใช้พลังงาน ลดพื้นที่ฝังกลบและลดปริมาณมลพิษด้วย ลำดับขั้นของการจัดการขยะชุมชนมีดังต่อไปนี้
1) การลดปริมาณมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิดและการใช้ซ้ำ (Source reduction & Reuse) เป็นขั้นตอนที่จะทำให้ไม่เกิดขยะมูลฝอย เช่น กำหนดให้ผู้ผลิตออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำผลิตภัณฑ์หรือบางส่วนของผลิตภัณฑ์กลับไปใช้ใหม่หรือเข้าไปรีไซเคิลในโรงงานได้ ควบคุมการใช้บรรจุภัณฑ์โดยให้ผู้จำหน่ายสินค้ารับคืนบรรจุภัณฑ์แล้วส่งกลับไปยังโรงงานผู้ผลิตเพื่อนำไปใช้ใหม่ การออกแบบสินค้าที่ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
2) การรีไซเคิล/การหมักทำปุ๋ย (Recycling/Composting) การรีไซเคิลวัสดุบางประเภทเพื่อนำไปผ่านกระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบหรือสินค้าใหม่ การรีไซเคิลยังรวมถึงการนำขยะอินทรีย์และขยะจากสวนมาหมักทำปุ๋ย
3) การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน (Waste-To-Energy) เป็นการนำขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้แล้วมาเปลี่ยนให้เป็นพลังงาน ความร้อน พลังงานไฟฟ้า หรือเชื้อเพลิงโดยผ่านกระบวนการต่างๆ ได้แก่ การเผาในเตา (combustion) แก๊สซิฟิเคชัน (gasification) ไพโรไลซิส (pyrolysis) การหมักก๊าซชีวภาพ (anaerobic digestion) และการดึงก๊าซจากการฝังกลบขยะ (landfill gas)
4) การฝังกลบมูลฝอย (Landfill) เป็นลำดับขั้นสุดท้ายของการจัดการขยะ
การนำขยะไปฝังกลบควรเป็นวิธีสุดท้ายสำหรับขยะที่ไม่สามารถกำจัดด้วยวิธีใดๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้ ดังนั้นในการจัดการขยะมูลฝอยควรเริ่มจากการรณรงค์ให้ความรู้และออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดปริมาณมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิดเป็นขั้นแรก จากนั้นหาวิธีการรีไซเคิลวัสดุในขยะเท่าที่เป็นไปได้ให้ได้มากที่สุด ได้แก่การแยกประเภทขยะก่อนทิ้ง และแยกประเภทเก็บขน นำขยะผ่านการคัดแยกต้นทางเข้าสู่กระบวนการคัดแยกอีกครั้งเพื่อทำให้ได้วัสดุที่มีความบริสุทธิ์มากขึ้นตามความต้องการของตลาด จากนั้นส่วนที่เหลือจึงพิจารณานำไปผลิตเป็นพลังงาน แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ที่มีในแต่ละท้องถิ่น ปริมาณขยะมูลฝอย และความเหมาะสมทั้งทางด้านพื้นที่ นโยบาย เศรษฐศาสตร์ เทคนิคและสิ่งแวดล้อม อาจทำให้วิธีการต่างๆ นั้นไม่สามารถดำเนินการได้
ในยุคที่ราคาน้ำมันโลกถีบตัวสูงขึ้น ทำให้เชื้อเพลิงทุกชนิดมีราคาแพง และด้วยนโยบายส่งเสริมการแปรรูปขยะเป็นพลังงานของรัฐบาล ทำให้เกิดโครงการกำจัดขยะที่เกี่ยวข้องกับการนำขยะมาเป็นพลังงาน จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลโครงการจัดการขยะที่ยังดำเนินงานอยู่และสามารถนำขยะไปผลิตเป็นพลังงานได้จริงในปัจจุบัน สามารถแบ่งเทคโนโลยีที่ใช้ออกเป็น 4 ประเภทคือ (1) การใช้เตาเผา (2) การผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ ส่วนที่เหลือนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) (3) กระบวนการบำบัดเชิงกล-ชีวภาพและผลิตเชื้อเพลิง RDF และ (4) การฝังกลบขยะและการวางท่อดึงก๊าซมาผลิตกระแสไฟฟ้า ( ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความสถานภาพการผลิตพลังงานจากขยะ http://webkc.dede.go.th/)